ภาวะบาดเจ็บทางสมองและการบกพร่องทางอารมณ์กับการรักษาด้วยกะโหลกเทียม

กะโหลกเทียมไทเทเนียม

กะโหลกเทียมแนวทางในการฟื้นฟูภาวะบกพร่องทางอารมณ์ในผู้ป่วยที่บาดเจ็บทางสมอง

ไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าในปัจจุบันนี้ ภาวะบาดเจ็บทางสมอง (Traumatic Brain Injury: TBI) นับได้ว่าเป็นหนึ่งในปัญหาทางด้านสุขภาพและสาธารณสุขที่ทั่วโลกกำลังหันมาให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในแต่ละปี มีผู้ป่วยมากถึง 42 ล้านรายจากทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับภาวะสมองบาดเจ็บทั้งในระดับเล็กน้อยที่ร่างกายสามารถฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บได้เอง และในระดับรุนแรงที่ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องใช้กะโหลกเทียมเป็นตัวช่วยในการผ่าตัดรักษา หลังจากที่ได้เข้ารับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะเพื่อรักษาอาการสมองบวมหรือเลือดออกในสมองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยถึงแม้ว่าผู้ป่วยสมองบาดเจ็บกว่า 70-90% จะมีอาการบาดเจ็บอยู่ในระดับเล็กน้อย (Mild Traumatic Brain Injury: MTBI) ซึ่งไม่ได้มีความรุนแรงจนถึงขั้นที่จะต้องมีการใช้งานกะโหลกเทียมหรือนำไปสู่การเสียชีวิต แต่ภาวะบาดเจ็บทางสมองก็ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจของผู้ป่วยได้ไม่น้อยเช่นกัน

ภาวะบาดเจ็บทางสมองและการบกพร่องทางอารมณ์เกี่ยวข้องกันอย่างไร ?

สมอง (Brain) เป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญของร่างกายที่ทำหน้าที่ในการช่วยควบคุมความคิด ความจำ การมองเห็น การหายใจ อารมณ์ ความรู้สึก ตลอดจนทักษะในการเคลื่อนไหวและการควบคุมร่างกาย ดังนั้น เมื่อสมองเกิดการบาดเจ็บหรือได้รับการกระทบกระเทือน ไม่ว่าจะด้วยการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ การเกิดอุบัติเหตุในขณะที่กำลังเล่นกีฬา การพลัดตกจากที่สูง หรือการหกล้มจนก่อให้เกิดภาวะบาดเจ็บทางสมองนั้น ก็ย่อมเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การทำงานอันสลับซับซ้อนของสมองเกิดการบกพร่อง ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถทั้งในการควบคุมร่างกายและการควบคุมอารมณ์ที่บกพร่องตามไปด้วย

โดยเมื่อร่างกายของคนเราประสบกับภาวะบาดเจ็บทางสมอง หนึ่งในของผิดปกติในระยะปฐมภูมิ (Primary Injury) ที่เราสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนมากที่สุดในทันที คือ อาการสับสน มึนงง อ่อนแรง สูญเสียการทรงตัว หมดสติ ศีรษะบวมโน หรือกะโหลกแตกยุบ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เนื้อเยื่อและโครงสร้างของเซลล์ประสาทเกิดการฉีกขาดหรือได้รับบาดเจ็บ จนส่งผลทำให้อัตราการไหลเวียนของเลือดภายในสมองลดลง

หลังจากนั้นจะเข้าสู่ช่วงทุติยภูมิ (Secondary Injury) ซึ่งจะเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นหลังจากการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ โดยอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ในทันทีหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บ หรืออาจต้องใช้เวลานานเป็นนาที เป็นชั่วโมง หรือเป็นวัน ก่อนที่จะมีความผิดปกติ อาทิ ภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง ภาวะเลือดออกภายในกะโหลกศีรษะ หรือภาวะสมองบวม ที่นำไปสู่การต้องผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะและต้องใช้กะโหลกเทียม ตลอดจนกลุ่มอาการภายหลังสมองได้รับการกระทบกระเทือน (Post-Concussion Syndrome: PCS)

กลุ่มอาการ PCS และภาวะบกพร่องทางอารมณ์ในผู้ป่วย TBI

กลุ่มอาการ PCS (Post-Concussion Syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้ป่วยประสบกับภาวะบาดเจ็บทางสมอง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วกลุ่มอาการ PCS มักจะพบมากในผู้ป่วยที่มีอาการสมองบาดเจ็บอยู่ในระดับเล็กน้อย (Mild Traumatic Brain Injury: MTBI) ในอัตราประมาณ 56-86% โดยกลุ่มอาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกของการบาดเจ็บไปจนถึงระยะเวลาหนึ่งปีหรือมากกว่านั้น โดยมีผลสำรวจระบุว่า ผู้ป่วยภาวะบาดเจ็บทางสมอง 24-84% ประสบกับกลุ่มอาการ PCS เป็นระยะเวลา 3-6 เดือนหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บ และมีผู้ป่วยภาวะบาดเจ็บทางสมองอีก 7-50% ที่ประสบกับกลุ่มอาการ PCS และมีอาการดังกล่าวหลงเหลืออยู่นานถึง 1 ปี

โดยกลุ่มอาการ PCS จะทำให้ผู้ป่วยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย การรู้สึกนึกคิด และมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ผิดแปลกไปจากเดิม ซึ่งจะสามารถจำแนกออกได้เป็น 4 ด้านหลัก ๆ ได้แก่

  1. ด้านร่างกาย (Physical) อาทิ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดต้นคอ เดินเซ เหนื่อยเพลีย คลื่นไส้ หรืออาเจียน
  2. ด้านการรู้คิด (Cognition) อาทิ สับสน มึนงง คิดช้า สมาธิลดลง หลงลืมง่าย
  3. ด้านการมองเห็น (Vision) อาทิ มองเห็นภาพซ้อน มองเห็นภาพไม่ชัดเจน ตาไวต่อแสงมากขึ้น
  4. ด้านพฤติกรรมและอารมณ์ (Behavioral or Emotional) อาทิ กระสับกระส่าย กระวนกระวาย วิตกกังวล ความอดทนต่ำ ซึมเศร้า โกรธหรือหงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ นอนหลับได้น้อยหรือนอนหลับได้มากผิดปกติ

จากผลสำรวจผู้ป่วยที่มีอาการสมองบาดเจ็บอยู่ในระดับเล็กน้อย (Mild Traumatic Brain Injury: MTBI) ยังได้มีการระบุอีกว่า ภายหลังจากการประสบกับภาวะบาดเจ็บทางสมอง 2-52 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีกลุ่มอาการภายหลังสมองได้รับการกระทบกระเทือน (PCS) เกิดขึ้นเฉลี่ยประมาณ 10 อาการ โดยอาการที่พบบ่อยมักจะอยู่ในรูปของการปวดเวียนศีรษะ เหนื่อยล้า ซึมเศร้า และคิดนานมากขึ้น จนส่งผลต่อความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวัน การทำงาน การเข้าสังคม และคุณภาพชีวิตที่ลดลง

แนวทางการรักษาภาวะบกพร่องทางอารมณ์ในผู้ป่วย TBI

ในปัจจุบันนี้ แนวทางการฟื้นฟูผู้ป่วยในกลุ่มอาการภายหลังสมองได้รับการกระทบกระเทือน (Post-Concussion Syndrome: PCS) เพื่อเป้าหมายที่สำคัญในการช่วยทำให้ผู้ป่วยภาวะบาดเจ็บทางสมองสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้นอีกครั้ง สามารถทำได้ทั้งหมด 2 แนวทาง ได้แก่ การฟื้นฟูทั่วไป และการฟื้นฟูสภาพเฉพาะ

  1. การฟื้นฟูทั่วไป
    ในการฟื้นฟูผู้ป่วยภาวะบาดเจ็บทางสมองแบบทั่วไป การพัก (Rest) นับได้ว่าเป็นหนึ่งในแนวทางการฟื้นฟูลำดับแรกที่ทางทีมแพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดภายในระยะเวลา 24-48 ชั่วโมงแรกหลังจากที่สมองบาดเจ็บ โดยผู้ป่วยควรพักผ่อนทางด้านร่างกายโดยหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย การยกของหนัก และกิจกรรมทางเพศ ร่วมกับการพักผ่อนทางด้านความคิด โดยหลีกเลี่ยงการใช้ความคิดหรือจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นระยะเวลานาน ๆ อาทิ การอ่านหนังสือ การดูโทรทัศน์ หรือการเล่นเกม เป็นต้น และนอกจากนี้ทีมแพทย์ก็จะยังมีการให้ความรู้ต่าง ๆ แก่ผู้ป่วยในการจัดการและฟื้นฟูภาวะบาดเจ็บทางสมองอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับมือและปรับตัวต่ออาการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองได้ดีมากยิ่งขึ้นโดยภายหลังจากที่ผู้ป่วยสามารถกลับไปพักผ่อนที่บ้านได้แล้ว ทีมแพทย์ก็จะแนะนำให้ผู้ป่วยหมั่นสังเกตและประเมินความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวเอง อาทิ อาการในกลุ่ม PCS อยู่เสมอ เพื่อการกลับมาเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงทีหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น นอกจากนี้การหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และสารเสพติด ร่วมกับการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ตลอดจนอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามิน E และอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัวอย่าง Omega-3 และ DHA ก็นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกดี ๆ ที่จะสามารถช่วยทำให้เซลล์ประสาทสามารถฟื้นตัวได้ดีมากขึ้น และลดความเสี่ยงในการเกิดกลุ่มอาการ PCS ในระยะยาวได้
  2. การฟื้นฟูสภาพเฉพาะ
    ในกรณีที่ผู้ป่วยภาวะบาดเจ็บทางสมองประสบกับอาการภายหลังสมองได้รับการกระทบกระเทือน (Post-Concussion Syndrome: PCS) ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติต่าง ๆ เกิดขึ้น ทางทีมแพทย์จะมีการแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการฟื้นฟูสภาพเฉพาะ เพื่อประโยชน์ในการช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง โดยการฟื้นฟูสภาพเฉพาะจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ด้านหลัก ๆ ได้แก่

    • การฟื้นฟูด้านร่างกาย (Physical ) : โดยเริ่มต้นจากการออกกำลังกายแบบเบา ๆ อย่าง การเดิน การว่ายน้ำ หรือการปั่นจักรยาน ร่วมกับการออกกำลังกายด้วยการบริหารต้นคอแบบ Deep Flexor Neck Exercise เพื่อช่วยลดอาการปวดศีรษะและช่วยให้เลือดสามารถไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงสมองได้ดีมากยิ่งขึ้น
    • การฟื้นฟูด้านสมดุลการทรงตัวและการมองเห็น (Vestibulo-Occular Therapy) : ผ่านการออกกำลังกายแบบ Eye-head Coordination Exercise, Standing Static Balance Exercise และ Ambulatory Exercise ที่จะสามารถช่วยฟื้นฟูสมดุลการทรงตัวและการมองเห็น ตลอดจนสามารถช่วยลดอาการเดินเซหรืออาการเวียนศีรษะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    • การฟื้นฟูด้านการรู้คิด (Cognitive) : สำหรับผู้ป่วยภาวะบาดเจ็บทางสมองที่มีภาวะบกพร่องทางอารมณ์ การฟื้นฟูด้วยวิธี Cognitive Behavior Therapy ร่วมกับการช่วยเพิ่มอัตราการไหลเวียนของเลือดภายในสมองจะช่วยทำให้ผู้ป่วยมีการรู้คิดที่ดีขึ้น อีกทั้งยังสามารถช่วยลดอาการวิตกกังวลและซึมเศร้าลงได้ นอกจากนี้การเล่นเกมไขปริศนาต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยการคิดและวิเคราะห์ก็นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกดี ๆ ที่สามารถช่วยฟื้นฟูด้านการรู้คิดของผู้ป่วยได้ดีไม่แพ้กัน

Meticuly คือ บริษัทผู้ผลิตกระดูกเทียมและกะโหลกเทียมไทเทเนียมรายแรกของประเทศไทย ที่เป็นเจ้าของการออกแบบและกระบวนการผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO และ USFDA ซึ่งเป็นการช่วยสร้างความมั่นใจให้กับแพทย์และผู้ป่วยทุกท่านได้ว่า สิ่งที่ท่านได้รับเป็นกระดูกเทียมไทเทเนียมและกะโหลกเทียมไทเทเนียมจากฝีมือคนไทยที่มีคุณภาพสูงสุดในระดับสากล และเป็นทางเลือกในการรักษาที่ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะอย่างแท้จริง

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ :
บริษัท เมติคูลี่ จำกัด
Email : [email protected]
Facebook : meticuly
LinkedIn : meticuly
Line : @meticuly
โทรศัพท์ : 02 334 0539

Share This

Copy Link to Clipboard

Copy