โรคหลอดเลือดสมอง สโตรก วิธีสังเกตอาการ การรักษา

โรคหลอดเลือดสมอง สโตรก

วิธีสังเกตอาการและปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ สโตรก (stroke) หมายถึงโรคที่เส้นเลือดสมองอุดตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมอง ไม่เพียงพอ สมองขาดเลือดและส่งผลให้เกิดอาการในที่สุด หรืออาจหมายถึงเส้นเลือดในสมอง แตก ทำให้มีเลือดออกในเนื้อสมอง จนไปกดทับเนื้อสมองหรือความดันในกะโหลกเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดอาการผิดปกติเช่นกัน ในที่นี้จะกล่าวถึงโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากเส้นเลือดสมองอุดตัน อาการผิดปกติที่พบ
แขนขาอ่อนแรงหรือชาข้างใดข้างหนึ่ง

  • หน้า หรือ ปากเบี้ยว
  • พูดไม่ชัด
  • เวียนศีรษะ
  • เดินเซ

จากผลสำรวจพบว่าประเทศไทยมีอุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือดสมองมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มีรายงานอุบัติการณ์โรคหลอดเลือดสมองเฉลี่ยสูงขึ้น จากประชากร จำนวน 278 คนต่อประชากร 100,000 คน ในปี 2560 จากประชากร จำนวน 330 คนต่อประชากร 100,000 คน ในปี 2565 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้น 0.1% โดยประมาณ

แต่อย่าชะล่าใจนัก เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง สามารถแบ่งปัจจัยเสี่ยงเป็นสองกลุ่ม คือ ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้และปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ โดยทั่วไปแล้ว สามารถป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ดัชนีมวลกายเกิน โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ การ สูบบุหรี่ และขาดการออกกำลังกาย ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่ อายุที่มากขึ้น เพศชาย ภาวการณ์แข็งตัวของเลือดเร็วกว่าปกติ

เราจะสามารถรักษาโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างไร?
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองอุดตันคือ เวลา หากพบผู้ป่วยที่มีอาการชวนให้ สงสัยโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน ต้องพาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด โดยใช้หลักการ “BEFAST” เป็นข้อสังเกต ได้แก่

  • B (balance) สูญเสียการทรงตัว เวียนศีรษะ
  • E (eyes) ตามัว เห็นภาพซ้อน
  • F (face) ใบหน้าชาหรืออ่อนแรง มุมปากตกข้างหนึ่ง
  • A (arm) แขนและ/ หรือขาอ่อนแรงหรือชาข้างใดข้างหนึ่ง
  • S (speech) พูดลำบาก พูดไม่ชัด มีปัญหาในการพูด
  • T (time) หากอาการเหล่านี้เป็นขึ้นมาทันที ควรพาไปโรงพยาบาลโดยเร็ว

หลักในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองหรือสโตรก คือ การเปิดการไหลเวียนของเส้นเลือด โดยเมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล ทีมแพทย์จะทำการตรวจเพื่อหาสาเหตุของอาการด้วยการส่งเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ หากผลการตรวจสงสัยว่ามีเส้นเลือดในสมองอุดตัน ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ของโรคหลอดเลือดสมอง การให้ยาละลายลิ่มเลือด แพทย์จะทำการรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางเส้นเลือดดำ ในกรณีที่มีการอุดตันของเส้นเลือดขนาดใหญ่ แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการใส่สายสวนทางเส้นเลือดแดงที่ขาหนีบเพื่อไปดูดหรือลากลิ่มเลือดที่อุดตันในเส้นเลือดสมอง นอกจากนี้ หากสมองขาดเลือดและบวมเป็นบริเวณกว้าง จะทำให้ความดันใน กะโหลกศีรษะสูงขึ้น จำเป็นต้องผ่าตัดเอากะโหลกออกเพื่อลดความดันในกะโหลกศีรษะ

Primary prevention is prime หรือการป้องกันไม่ให้เกิดโรค การรักษาที่ดีที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้เกิดโรค ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

  • ควบคุมระดับความดันโลหิต น้ำตาลและไขมันในกระแสเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 20 นาที หรือสัปดาห์ละ 3-4 วัน
  • เลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์
  • หากมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือหัวใจเต้น ผิดจังหวะ ต้องพบแพทย์ติดตามอาการตามนัดและทานยาสม่ำเสมอ

ในกรณีที่เคยได้รับการ วินิจฉัยเป็นโรคหลอดเลือดสมองอุดตันแล้ว ไม่ว่าได้รับการรักษาด้วยวิธีใด ต้องเข้มงวดในการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคและทานยาละลายลิ่มเลือดอย่างต่อเนื่องตามคำที่แพทย์แนะนำ

ขอขอบคุณ นายแพทย์ พีรวัส สรรค์ธีรภาพ
โรงพยาบาลตากสิน ศูนย์สมองและหลอดเลือดสมอง

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ :
บริษัท เมติคูลี่ จำกัด
Email : [email protected]
Facebook : meticuly
LinkedIn : meticuly
Line : @meticuly
โทรศัพท์ : 02 334 0539

Share This

Copy Link to Clipboard

Copy